รักษ์โลกกับลามิน่า

ลามิน่า เดินหน้ากิจกรรมเพื่อสังคมตอบแทนแผ่นดินเกิด ลดโลกร้อนด้วยการติดฟิล์มให้โลกภายใต้โครงการ “รักษ์โลกกับลามิน่า” อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11

CSR

ลามิน่า เดินหน้ากิจกรรมเพื่อสังคมตอบแทนแผ่นดินเกิด ลดโลกร้อนด้วยการติดฟิล์มให้โลกภายใต้โครงการ “รักษ์โลกกับลามิน่า” อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11      ปลูกฟื้นฟูป่า 50 ไร่ ในพื้นที่สถานีวนวัฒนวิจัยสะแกราช ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา  รวมคืนผืนป่าให้กับประเทศไทยแล้วกว่า 500 ไร่ จำนวนต้นไม้กว่า 105,000 ต้น

บริษัท เทคโนเซล (เฟรย์) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายฟิล์มกรองแสงรถยนต์และอาคารลามิน่า ฟิล์มกลุ่มพิเศษลูมาร์ ผลิตโดยซีพีฟิล์มอิงค์ มาตรฐานไอเอสโอ 9001 ในเครือบริษัท อีสท์แมน เคมิคัล จากสหรัฐอเมริกา อุปกรณ์บรรทุกสัมภาระธูเล่ จากสวีเดน ผลิตภัณฑ์เคลือบปกป้องรถยนต์ เรือ อากาศยาน ไทรบอส จากอังกฤษ ผลิตภัณฑ์ลำโพงติดรถยนต์ระดับไฮเอนด์ โซนิค ดีไซน์ จากญี่ปุ่น และฟิล์มนิรภัยติดกระจกด้านนอกรถคุณภาพสูง เบรย์ จากสหรัฐอเมริกา แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย โดย นางสาวจันทร์นภา สายสมร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นำทีมปลูกป่าเพิ่มเติม 50 ไร่ ในโครงการรักษ์โลกกับลามิน่าต่อเนื่องเป็นปีที่ 11

ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายสุชาติ กัลยาวงศา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาป่าไม้ ผู้แทนอธิบดีกรมป่าไม้ เป็นประธานในพิธี และได้รับความร่วมมือจากกรมป่าไม้ ชมรมรถขับเคลื่อนสี่ล้อกลุ่มกระทิงโทน คณะผู้บริหารศูนย์ตัวแทนจำหน่าย ผู้จำหน่ายรถยนต์กลุ่มลามิน่าฟิล์มแฟนเพจ ผู้ใช้ฟิล์มกรองแสงลามิน่า สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันปลูกป่าพลิกฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ จำนวนทั้งสิ้น  50 ไร่ ณ สถานีวนวัฒนวิจัยสะแกราช ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา

โครงการรักษ์โลกกับลามิน่า ปีที่ 11 ติดฟิล์มให้โลก ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาเกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพป่าและสิ่งแวดล้อม มาปรับใช้ด้วยการแบ่งแปลงปลูกออกเป็น หนึ่ง ปลูกพืชเด่นคืนถิ่นให้กับป่าสะแกราช ได้แก่ เคี่ยมคะนอง ยางนา ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน และสอง ปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารของสัตว์ป่า ทั้งสำหรับสัตว์ปีก กระทิง กวาง กระรอกและสัตว์ฟันแทะ ได้แก่ มะค่าโมง พระเจ้าห้าพระองค์ ปลูกกระจายไปในพื้นที่ 50 ไร่

นอกจากนี้ยังได้มอบเงินเพื่อสนับสนุนการดูแลผืนป่าดังกล่าวอย่างต่อเนื่องอีก 2 ปี เพื่อการบำรุงรักษาต้นไม้ในโครงการให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งการปลูกป่าในโครงการนี้มีอัตรารอดและเติบโตสูงถึง 95% นอกเหนือจากการคืนผืนป่าให้กับประเทศไทยแล้วยังได้มีโอกาสทำให้บริเวณนี้เป็นแหล่งอาหารสัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์อีกด้วย

นางสาวจันทร์นภาได้เปิดเผยถึงโครงการนี้ว่า “วัตถุประสงค์ของโครงการรักษ์โลกกับลามิน่าเพื่อฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมลดปัญหาสภาวะโลกร้อนที่เผชิญอยู่ในปัจจุบันเปรียบเสมือนการติดฟิล์มกรองแสงเพื่อช่วยลดความร้อนให้กับโลก โดยได้แนวคิดมาจากการติดฟิล์มเพื่อลดความความร้อนในรถยนต์และอาคารบ้านเรือน ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายฟิล์มกรองแสงได้นำมาใช้ในการดำเนินโครงการนี้”

นับตั้งแต่เริ่มโครงการแรกในปี พ.ศ.2551 จนถึงโครงการล่าสุดในปีนี้ รักษ์โลกกับลามิน่าได้คืนผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ให้ประเทศไทยไปแล้วกว่า 500 ไร่ นับเป็นต้นไม้กว่า 105,000 ต้น รวมถึงยังได้ขยายขอบเขตของโครงการเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโป่งเพื่อเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า หรือแม้แต่การปลูกปะการังเพื่อช่วยฟื้นฟูทะเลไทยในโครงการที่ดำเนินการก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ โครงการรักษ์โลกกับลามิน่า จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนองแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในการรักษาสภาพทางนิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อม สนับสนุนโครงการทำดีเพื่อแผ่นดิน โดยลามิน่าริเริ่มโครงการนี้ด้วยความตั้งใจที่จะปลุกจิตสำนึกให้เกิดความรักสิ่งแวดล้อม เกิดความหวงแหนและเล็งเห็นความสำคัญของต้นไม้ที่มีต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของมนุษย์

“โครงการรักษ์โลกกับลามิน่าที่ได้ดำเนินงานมาถึงปีที่ 11 นี้ เกิดขึ้นได้จากความช่วยเหลือในทุกภาคส่วน ทั้งนี้บริษัทฯ ต้องขอขอบพระคุณกรมป่าไม้ พี่ๆ น้องๆ กลุ่มกระทิงโทน ครอบครัวลามิน่าฟิล์ม ทั้งศูนย์ตัวแทนจำหน่าย โชว์รูมรถยนต์ทั่วประเทศ กลุ่มลามิน่าฟิล์มแฟนเพจ และสื่อมวลชน รวมถึงผู้ใช้ฟิล์มกรองแสงลามิน่าทุกคน ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากการติดฟิล์มลามิน่า ได้นำมาร่วมกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลดสภาวะโลกร้อนร่วมกันอย่างต่อเนื่อง”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าวสรุปว่า นอกเหนือจากการเติบโตทางธุรกิจแล้ว สิ่งหนึ่งที่ลามิน่ามุ่งมั่นมาตลอดนับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมาตลอดกว่า 2 ทศวรรษคือ การเติบโตเคียงคู่สังคมไทย รวมถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการสนับสนุนกิจกรรมด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาสังคมในภาพรวม ซึ่งบริษัทฯ ขอยืนยันที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนเคียงข้างสังคมไทยต่อไป

Tagged