สมาคมประกันวินาศภัยไทย ศึกษาโมเดลประกันภัยพืชผลเกาหลี ดูแลความเสี่ยงให้กับเกษตรกรไทย

Insurance

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ได้นำคณะทำงานด้านการประกันภัยพืชผล (Insurance Working Group on Thailand’s Sustainable Agricultural Insurance System) ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการประกันภัยพืชผล ณ ประเทศเกาหลี

เพื่อศึกษาแนวคิดและยุทธศาสตร์การประกันภัยพืชผล โดยมีผู้แทนจากภาคธุรกิจประกันภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมส่งเสริมการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และสมาชิกบริษัทประกันภัย พร้อมทั้งศึกษาดูงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เช่น กลุ่มธุรกิจการเงิน NongHyup Financial Group ซึ่งประกอบด้วย สถาบันการเงินและบริษัทประกันภัย บริษัทประกันภัยต่อแห่งประเทศเกาหลี (Korean Reinsurance Company) ซึ่งเป็นบรรษัทขนาดใหญ่ที่รับประกันภัยข้าว และ สถาบันพัฒนาการประกันภัยแห่งประเทศเกาหลี (Korea Insurance Development Institute – KDI) เป็นต้น ซึ่งเหตุผลที่คณะทำงานฯ เลือกประเทศเกาหลีในการมาศึกษาดูงานด้านการประกันภัยพืชผลในครั้งนี้ เนื่องจากประเทศเกาหลีเป็นประเทศที่เป็นต้นแบบเรื่องของการประกันภัยพืชผล ที่มีการทำมาแล้วกว่า 17 ปี โดยมีแนวคิดและยุทธศาสตร์การประกันภัยพืชผลที่คิดแบบองค์รวม มีกลไกการประกันภัยต่อของรัฐเข้ามามีบทบาทในการประกันภัยต่อสุดท้าย (Reinsurer of Last Resort) เพื่อดูแลเฉพาะความเสี่ยงระดับสูงสุด และยังมีกฎหมายรองรับโดยเฉพาะ คือ Agricultural and Fishery Disaster Insurance Act 2011 และมีการกำหนดอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) ที่จะเข้าสู่การประกันภัยต่อโดยรัฐอย่างชัดเจนสำหรับพืชแต่ละประเภท ซึ่งรูปแบบการประกันภัยพืชผลส่วนใหญ่จะเป็นการทำประกันภัยผลไม้เป็นหลัก เช่น แอปเปิ้ล ลูกแพร ลูกพลับ แอปริคอต องุ่น และข้าว เป็นต้น มีเบี้ยประกันภัยจำนวน 321 แสนล้านวอน หรือ ประมาณ 9,600 ล้านบาท โดยจะให้ความคุ้มครองตามความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เช่น พายุไต้ฝุ่น ลูกเห็บ และ น้ำค้างแข็ง ซึ่งเป็นภัยหลักที่สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกร

นายจีรพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมฯ เชื่อมั่นว่าการศึกษาดูงานในครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้นำเอารูปแบบ แนวคิดแบบองค์รวมของการประกันภัยพืชผลประเทศเกาหลี มาใช้เป็นต้นแบบเทียบเคียงเพื่อสร้างรูปแบบการประกันภัยพืชผลของไทยให้มีความยั่งยืนต่อไป เพื่อให้เกษตรกร ชาวสวน ชาวไร่จะได้มีหลักประกันคุ้มครองต้นทุนการเพาะปลูก สามารถบริหารจัดการความเสี่ยง ด้วยการนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงทางการเงินได้ ซึ่งจะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ต่อไป