คุณทําบุญ หรือ ทําบาป สุขภาพพระสงฆ์ใครกำหนด ?

CSR

การทำบุญถวายภัตตาหารที่เกิดจากความศรัทธา แต่ไม่คำนึงถึงสุขภาพของพระสงฆ์ อาจกลายเป็นทำบาปโดยไม่รู้ตัว ประติมากรรมพระสงฆ์จำลอง (รูปด้านบน) ในแคมเปญ “ทำบุญหรือทำบาป (Making Merit or Creating Hurt)” ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา จะเปลี่ยนความเชื่อการตักบาตรของศาสนาพุทธไปในทางที่ถูกต้อง โดยในอาทิตย์แรกของเดือนเมษายน ประชาชนจะได้พบกับรูปปั้นของพระสงฆ์ที่รูปร่างสมส่วน แข็งแรง ได้ตามวัด ชุมชน และสถานที่สำคัญ และเมื่อเหล่าพุทธศาสนิกชนกลับมาทำบุญเข้าวัดอีกครั้งในอีก 2 อาทิตย์ให้หลังซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก็จะได้พบกับประติมากรรมพระที่มีรูปร่างอ้วน สีหน้าอมทุกข์ และบริเวณเท้ามีรอยแผลจากโรคเบาหวานแทน

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย ที่มีอายุกว่า 2,500 ปี คนไทยกว่า 95% นับถือศาสนาพุทธ และเชื่อว่าการทำบุญตักบาตรถวายอาหารให้พระนั้นนอกจากเพื่อบุญกุศลแก่ตัวเองแล้ว อีกนัยคือการส่งผ่านอาหารไปสู่คนรักหรือคนในครอบครัวที่ล่วงลับ จึงมักเลือกอาหารที่ผู้ล่วงลับชอบมาใส่บาตรเป็นหลักและไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพของพระสงฆ์ ทำให้อาหารที่ใส่บาตรนั้นมีไขมันสูง รสจัด และมีปริมาณผงชูรสสูง แน่นอนว่าเมื่ออาหารเหล่านั้นไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ผลร้ายต่อสุขภาพจึงไม่ได้ตกที่ใครอื่นนอกจากตัวพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้ฉันอาหารเหล่านั้น และเนื่องจากกฎของสงฆ์ระบุห้ามมิให้ปฏิเสธอาหาร อีกทั้งสถานะที่ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย ส่งผลให้กว่า 70% ของพระสงฆ์ทั่วประเทศกว่า 300,000 รูปต้องประสบปัญหาน้ำหนักเกินมาตรฐาน ป่วยเป็นโรคอ้วน เบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง ไขมันอุดตัน ความดันสูง หลอดเลือดหัวใจอุดตัน และข้อเข่าเสื่อม สร้างความทุกข์ทรมานแก่พระสงฆ์เป็นอย่างมาก และยังส่งผลให้หน่วยงานรัฐมีค่าใช้จ่ายต้องดูแลถึงปีละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งกลายเป็นปัญหาสำคัญที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี

เพื่อให้พุทธศาสนิกชนตื่นรู้ถึงภัยเงียบที่ตนกำลังมอบให้แก่พระสงฆ์ โรงพยาบาลสงฆ์จึงร่วมมือกับมูลนิธิหอธรรมพระบารมี และโอกิลวี่ จัดทำแคมเปญ “ทำบุญหรือทำบาป (Making Merit or Creating Hurt)” เพื่อตีแผ่ปัญหาภิกษุอาพาธ ผ่านประติมากรรมที่สะท้อนให้สังคมเห็นถึงอันตรายของโรคภัยไข้เจ็บในหมู่พระสงฆ์ อันมีสาเหตุมาจากการฉันอาหารที่ได้รับถวายจากฆราวาส ประติมากรรมพระสงฆ์อาพาธจำลองชุดนี้ถูกนำไปจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ เช่น วัด ตลาด โรงพยาบาล และสถานปฏิบัติธรรม ให้ผู้คนที่สัญจรไปมาได้เห็น และเพื่อให้ตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับพระสงฆ์มากยิ่งขึ้น ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ประติมากรรมจัดแสดงจะได้รับ MMS ซึ่งส่งด้วยระบบ location-based service ที่มีลิงก์เข้าไปยัง www.obesitymonk.com โดยนอกจากจะช่วยให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจถึงโรคภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับพระสงฆ์แล้ว ในเว็บไซด์ยังแนะนำวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยสูตรอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะกับพระสงฆ์ด้วย

นายแพทย์ชำนิ จิตตรีประเสริฐ  ผู้อํานวยการ โรงพยาบาลสงฆ์

“ส่วนสําคัญที่ช่วยดูแลสุขภาพของพระสงฆ์นั้น ไม่ได้อยู่ที่หมอหรือพยาบาล แต่อยู่ที่พวกเราทุกคน “ นายแพทย์ชำนิ จิตตรีประเสริฐ ผู้อํานวยการ โรงพยาบาลสงฆ์ และหัวหอกใหญ่ของแคมเปญ “ทำบุญหรือทำบาป” กล่าว “ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนพระสงฆ์อาพาธด้วยโรคภัยที่เกิดจากการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ส่งผลให้หน่วยงานของภาครัฐมีภาระค่ารักษาพยาบาลของพระสงฆ์สูงถึงปีละกว่า 1,000 ล้านบาท เหตุการณ์ที่พระสงฆ์บางรูปต้องตัดขาเนื่องจากโรคเบาหวาน บางรูปต้องใช้ชีวิตลำบาก ทนทรมานกับโรคที่เกิดจากระดับไขมันในเลือดสูงนั้นเกิดขึ้นจริง และผมเชื่อว่านี่คือความทุกข์ที่ไม่ว่าญาติโยมคนไหนได้ทราบก็คงสะเทือนใจเช่นกัน ขณะนี้สถานการณ์กำลังเข้าขั้นวิกฤต จึงต้องหาทางแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาเป็นการเร่งด่วน โดยทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเอง ด้วยการปรุงเมนูอาหารสำหรับใส่บาตรที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพ หรือเลือกซื้อเฉพาะอาหารจำพวกไขมันต่ำ น้ำตาลน้อย จากร้านค้าเพื่อนำไปถวายพระ”

อาจารย์วัชระ ประยูรคํา ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรม

ด้าน อาจารย์วัชระ ประยูรคํา ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรม “พระสงฆ์อ้วน” เผยว่า “ในฐานะพุทธศาสนิกชน ผมไม่อยากเห็นพระสงฆ์ซึ่งเป็นเสาหลักในการธำรงพระพุทธศาสนาต้องเจ็บป่วยและทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บ จึงได้สร้างประติมากรรมพระสงฆ์จําลองขึ้นมา เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นผลเสียจากการที่พระสงฆ์ฉันอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ตัวประติมากรรมมีการแฝงความหมายไปตามจุดต่างๆ เช่น บาดแผลที่สื่อถึงความทุกข์ทรมานจากโรคเบาหวาน พื้นผิวของรูปปั้นที่ขรุขระเนื่องจากไขมันส่วนเกิน และสีทองที่สื่อถึงความศรัทธาการถวายอาหารแต่กลับกลายเป็นการย้อนทําร้ายพระสงฆ์ทางอ้อม หวังว่าประติมากรรมชุดนี้จะช่วยกระตุ้นให้เหล่าพุทธศาสนิกชนตื่นรู้และเห็นถึงความสำคัญของการเลือกสรรอาหารสำหรับถวายพระสงฆ์มากขึ้น และช่วยแก้ไขปัญหาพระสงฆ์อาพาธให้ลดลงได้ในระยะยาว”

ถึงเวลาที่เราต้องร่วมกันปลุกจิตสำนึกเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกต้อง มาร่วมมือกันใส่ใจก่อนใส่บาตร ทุกครั้งที่ทําบุญตักบาตร เลือกอาหารที่มีคุณค่าถูกหลักโภชนาการถวายแก่พระสงฆ์ โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดสูตรอาหารที่ถูกหลักโภชนาการสำหรับพระสงฆ์ได้ที่เว็บไซต์ www.obesitymonk.com พร้อมร่วมกันลงชื่อใน http://chng.it/FnPxHNWHXR เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อปรับเปลี่ยนค่านิยมของชาวพุทธให้สอดรับกับด้านสุขภาพของพระสงฆ์มากยิ่งขึ้น

เพราะสุขภาพของพระสงฆ์ คุณคือคนกําหนด