อีอีซี ชี้แจงกรณี เครือข่ายวิชาการและประชาชนเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (วสส.) เรียกร้องให้มีการทบทวนกรณีการพัฒนาพื้นที่เขตอีอีซี

Economic Economic News

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ขอชี้แจงข้อเท็จจริงกรณี เครือข่ายวิชาการและประชาชนเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (วสส.) นำเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการดำเนินโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ดังนี้

  1. กรณีประกาศเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษทับพื้นที่สีเขียว

ชี้แจง     ที่ผ่านมากระบวนการประกาศเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ถูกต้อง และสอดคล้องกับคู่มือการจัดตั้งเขตส่งเสริมทุกประการ และมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยสำนักงานได้ประกาศเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษไปแล้ว 25 แห่ง โดยการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษจะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการ ประโยชน์ ผลกระทบ และมาตรการเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนหรือชุมชนที่อาจได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย พร้อมทั้งจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินในเขตส่งเสริม  ทั้งนี้การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษมี  2 รูปแบบคือ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ จำนวน 4 แห่ง และเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรมจำนวน 21 แห่ง

อย่างไรก็ตามการประกาศเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ นอกจากจะสอดคล้องกับคู่มือการจัดตั้งเขตส่งเสริมแล้วยังสอดคล้องกับกฎหมายของผังเมือง ทุกประการ ในขณะเดียวกันเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรมก็ต้องสอดคล้องกับคู่มือการจัดตั้งเขตส่งเสริมทุกประการเช่นกัน ซึ่งการที่จะเป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมได้นั้น จะต้องเป็นนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้ กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มาก่อนและมีเป้าหมายรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สำหรับการจัดทำผังเมืองในอดีต ต้องใช้เวลาในการดำเนินงานค่อนข้างนาน ทำให้ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาต ก็คำนึงและปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ดังนั้นประเด็นปัญหาที่พบเห็นอยู่เสมอเช่นการอนุมัติให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมก่อนที่ผังเมืองมีผลบังคับใช้ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการทบทวนการจัดทำผังเมือง EEC ให้มีความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงและเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  1. กรณีทำผิดกฎหมายผังเมืองในบริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ โครงการ 2 ที่ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่ท่าเรือบก และพื้นที่โครงการบลูเทค ซิตี้

ชี้แจง ทุกภาคส่วนตระหนักการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเสมอ ที่ผ่านมาการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครโครงการ 2 เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้ประกาศเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมภายใต้กฎหมายของ กนอ. แล้ว และได้ดำเนินงานอย่างสอดคล้องกับคู่มือจัดตั้งเขตส่งเสริมทุกประการ  อีกทั้งโครงการดังกล่าวได้จัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม ก่อนที่ผังเมืองรวมประกาศบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม ขณะนั้นบริษัทได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขการใช้ประโยชน์ของผังเมืองต่อกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการแก้ไขสีของผังเมือง ตามขั้นตอน โดยผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และเตรียมประกาศใช้บังคับ นอกจากนั้น บริษัทก็ได้ดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการแล้วเสร็จ เตรียมเสนอ สผ.เพื่อพิจารณาโครงการ ซึ่ง สผ.จะพิจารณาโครงการได้หลังจากที่มีการแก้ไขสีของผังเมืองแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม จะพัฒนาโครงการได้ หลังจากที่รายงาน EIA ได้รับอนุมัติจาก สผ.

สำหรับพื้นที่ท่าเรือบก และพื้นที่โครงการบลูเทค ซิตี้ สำนักงานยังไม่ได้พิจารณาจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษแต่อย่างใด 

  1. กรณีผิดกฎหมายที่ดินบริเวณพื้นที่โครงการบลูเทค ซิตี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ผ่าน EIA

ชี้แจง สถานะของโครงการบลูเทค ซิตี้ ปัจจุบัน ยังไม่ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ตามพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 สำนักงานจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเคร่งรัดทุกประการ

  1. กรณีสร้างความเสียหายต่อวิถีชีวิตที่ดำเนินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ชี้แจง การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้ความสำคัญกับความสมดุลด้านการพัฒนา ทุกด้าน ทั้งนี้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมให้มีการประกอบพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการเกษตรกรรมดั้งเดิม ตลอดจนวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการบูรณาการการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้ต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันทั้งในและนอกเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย มั่นคง และประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของ ผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง

  1. กรณีสร้างความเหลื่อมล้ำ ผิดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน เปลี่ยนสีผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วง ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมเป็นเขตอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการกระทำที่ส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่ออาชีพเกษตรกร

ชี้แจง การจัดทำผังเมือง ตามพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกให้เป็นระบบ สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคต้องคำนึงถึงความต่อเนื่องและเชื่อมโยงกับโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคของพื้นที่ต่อเนื่องกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และอย่างน้อยต้องประกอบด้วย 8 ระบบ ได้แก่ ระบบสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่ง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม ระบบบริหารจัดการน้ำ ระบบควบคุมและขจัดมลภาวะ และระบบป้องกันอุบัติภัย โดยต้องคำนึงถึง ความสัมพันธ์ชุมชน และสุขภาวะประชาชน สร้างการรับรู้และรับฟังความคิดเห็น  อย่างไรก็ตาม การจัดทำผังเมืองนั้น จะต้องสอดคล้องกับหลักวิชาการ ผังเมืองทุกประการ

  1. กรณีการเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการประกาศเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษทับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมไม่สอดคล้องกับกฎหมาย EEC ที่ส่งเสริมการประกอบพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ชี้แจง การดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นั้น อยู่ภายใต้ มาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยการส่งเสริม คุ้มครอง และอำนวยความสะดวก ต้องอยู่ภายใต้หลักความเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติสำหรับการประกาศเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษครอบคลุมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และจูงใจให้ผู้ประกอบกิจการเดิมๆ ยกระดับการผลิต และกระบวนการ ไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนให้มีการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญจากผู้ประกอบกิจการ สถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยที่มีศักยภาพสูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบกิจการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จะต้องเป็นกิจการที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย s curve ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เท่านั้น อีกทั้งการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมมีมาตรฐานในการพัฒนาและกำกับดูแลที่เป็นระดับสากล

  1. กรณีผลประโยชน์ทับซ้อนของการประกาศเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษทับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

ชี้แจง การประกาศเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เป็นกลไกกระตุ้นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนให้มีการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญจากผู้ประกอบกิจการ สถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยที่มีศักยภาพสูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการพิจารณาอยู่ภายใต้หลักความเสมอภาค คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวม ดังนั้นการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นั้นถือว่าประเทศชาติได้ประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว ทั้งด้านมาตรฐานในการพัฒนา มาตรฐานในการกำกับดูแล และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมในระดับสากล อย่างไรก็ตามขอเน้นย้ำว่า ผู้ประกอบกิจการนิคมอุตสาหกรรมที่ยกระดับเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและไม่ใช้ภาษี ต้องเป็นผู้ประกอบกิจการที่ใหม่ หรือผู้ประกอบกิจการเดิมที่ขยายการลงทุน ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย s curve เท่านั้น ซึ่งจะไม่เป็นการให้สิทธิประโยชน์ทับซ้อนแต่อย่างใด

  1. กรณีขาดมาตรการคุ้มครองอาชีพเกษตรกรรมให้มีความมั่นคง

ชี้แจง การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้ความสำคัญการพัฒนาทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง สำหรับความมั่นคงของภาคเกษตร รวมถึงตัวเกษตรกร นั้น ได้คำนึงถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นพร้อมๆกับการเติบโตของระบบอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการเอานำเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ๆ มาใช้ เช่น การนา Sensors มาใช้วัดคุณภาพดิน วัดปริมาณน้ำ การใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลระดับสูง และระบบอัตโนมัติ การลงทุนและการวิจัยทางเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น การปรับปรุง พันธุ์พืชและสัตว์ อุตสาหกรรมการคัดคุณภาพ บรรจุ เก็บรักษาพืชผัก ผลไม้ หรือดอกไม้ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้นจึงมีการกำหนดเป้าหมายมุ่งเน้นการการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร การจัดการด้านพื้นที่ทำกิน และการพัฒนาและแปรรูปสินค้า ไปพร้อมกัน เช่นที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการผลักดันโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC) เพื่อผลักดันให้พื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผลไม้แหล่งใหญ่ที่สุดในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก และระยอง ตราด ก็เป็นแหล่งผลิตด้านผลไม้เป็นอันดับที่สองรองจากจันทบุรี ก้าวขึ้นเป็นศูนย์ผลไม้เมืองร้อนแห่งเอเชีย เพื่อเป็นการเติมเต็มให้กับภาคการเกษตร และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มจากการผลิต การแปรรูป และการตลาด

Tagged