DIA by DGA ประกาศรางวัลชนะเลิศผลงาน “ตลาดข้อมูล” แบบ Crowdsourcing และ “Unseen Local” แอปฯ ท่องเที่ยวแนวใหม่ชิงถ้วยพระราชทานกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พร้อมคว้าเงินแสน

IT & Start Up

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งผลักดันให้ทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลเปิดภาครัฐ หรือ Open Government Data ซึ่งเป็นข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data ของภาครัฐมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อนำไปสร้างสรรค์ต่อยอดบริการระบบดิจิทัลให้ทัดเทียมนานาประเทศและสามารถบริหารงานภาครัฐและการบริการสาธารณะเป็นไปด้วยความสะดวก สมดังนโยบายในการนำพาประเทศมุ่งสู่รัฐดิจิทัล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นจึงขอให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือกันในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ วิธีการการทำงาน และเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยี รวมถึงการขจัดข้อขัดแย้ง และอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการปรับเปลี่ยนองค์กร เพื่อสร้างความท้าทายใหม่ไปพร้อมกัน ทั้งในการบูรณาการข้อมูลร่วมกันของภาครัฐก็เพื่อให้เกิดการทำงาน “เชื่อมโยง” (Connected Government) และเป็นภาครัฐที่เปิดเผยโปร่งใส (Open Government) ในที่สุด

ขณะเดียวกันภาครัฐจำเป็นต้องตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่อบทบาทหน้าที่ของรัฐ และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริหารจัดการ การกำหนดนโยบาย การแก้ไขปัญหา การลดอุปสรรคและความเสี่ยง การตอบสนองต่อความท้าทายอย่างทันท่วงที และที่สำคัญที่สุดคือการให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังเช่นรัฐบาลทั่วโลกที่ต่างตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศเช่นกัน

จากโครงการ DIA นี้จะเห็นได้ว่าภาครัฐยังมีความท้าทายจากการที่มีปริมาณข้อมูลมหาศาลที่หลากหลายและซับซ้อน อีกทั้งยังถูกจัดเก็บอยู่ในหลายหน่วยงาน โดยมีมาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลที่ต่างกัน และมีกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานในเชิงปฏิบัติ ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องคำนึงถึงเงื่อนไขด้านความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล นอกจากนี้ ยังขาดบุคลากรภาครัฐที่มีความชำนาญด้านดิจิทัล จึงจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนบุคลากรและพัฒนาทักษะ ขีดความสามารถ และปรับทัศนคติด้านดิจิทัล ให้เพียงพอต่อการพัฒนาภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล รวมถึงความท้าทายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ภาครัฐจำเป็นต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทันต่อบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต้องคำนึงถึงการรักษาสมดุลระหว่างความปลอดภัยของข้อมูลและการอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่และผู้รับบริการ

การที่ให้หน่วยงานภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลสาธารณะที่เป็นประโยชน์ (Open Data) ต่อสาธารณะ เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์ บริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ รวมถึงการจัดการความปลอดภัยไซเบอร์ ถือเป็นความท้าทายหนึ่งเพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมบริการ และสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม และแสดงถึงความโปร่งใส ลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและการบริการภาครัฐได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น จึงมีการขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐให้เร่งดำเนินการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวบนช่องทางดิจิทัลที่ทาง DGA ได้จัดเตรียมไว้ที่เว็บไซต์  data.go.th โดยข้อมูลที่มากขึ้นจะส่งผลให้การตัดสินใจในการบริหารจัดการได้ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงเร่งส่งเสริมให้เกิดชุมชนผู้ใช้ข้อมูล (Data Community Engagement) ในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดบริการใหม่ ๆ ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญที่ DGA ได้ดำเนินการผลักดันให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven) ต่อไป

นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อํานวยการ รักษาการแทนผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เปิดเผยว่า โครงการประกวดนวัตกรรมข้อมูลเปิดภาครัฐ หรือ DIA by DGA ได้กําหนดหัวข้อที่ใช้ในการแข่งขัน คือ Digital Government หรือรัฐบาลดิจิทัล และ Smart Life หรือเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการแข่งขันแบ่งเป็น2 ประเภท คือ ประเภทนักศึกษา และประเภทผู้ประกอบการ มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจํานวน 367 ทีม มีทีมที่ผ่านเกณฑ์การตัดสินประเภทละ 10 ทีม รวมจํานวน 20 ทีม

โดยผู้ชนะเลิศในประเภทผู้ประกอบการ ได้แก่ ทีมว่าง ซึ่งนำเสนอผลงานชื่อ “ตลาดข้อมูล” ที่เป็นแพลตฟอร์มในรูปแบบ Crowdsourcing ระหว่างผู้ต้องการข้อมูลกับผู้มีเวลาว่างและอยากหารายได้ โดยผู้ต้องการข้อมูลจะเข้ามาระบุประเภทข้อมูล ตัดคำ หารูป และอื่นๆ เพื่อทำให้ผู้ที่มีเวลาว่างสามารถเข้ามาตอบคำถามต่างๆ จัดการข้อมูลตามที่ผู้ต้องการข้อมูลกำหนด โดยที่แพลตฟอร์มนี้จะมีที่ฝากข้อมูลซึ่งสามารถแบ่งงานขนาดใหญ่ให้เป็นขนาดเล็กอย่างรวดเร็ว สามารถตัดแบ่งงานให้เหมาะกับผู้เข้ามารับงานได้ง่าย และยังกำหนดงบประมาณได้อย่างเหมาะสม ภายใต้เทคโนโลยี Machine Learning

สำหรับผู้ชนะเลิศประเภทนักศึกษา ได้แก่ Unseen Local จากทีม Remic-Bitz มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้พัฒนาแพลตฟอร์มโปรแกรมท่องเที่ยวท้องถิ่นรวมเข้ากับไกด์ท้องถิ่น โดยเริ่มจากภูมิภาคอีสาน โดยใช้ไกด์ท้องถิ่นที่มีตัวตนจริงเพิ่มข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงเทศกาลในท้องถิ่นแบบเจาะลึกเพื่อเป็นจุดขายสำหรับนักท้องเที่ยว เชื่อมโยงเข้ากับระบบข้อมูลเปิดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ และข้อมูลธุรกิจจากกระทรวงพาณิชย์

“ผู้ชนะเลิศของทั้งสองทีม นอกจากจะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แล้วยังได้โล่เกียรติคุณ เกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุนมูลค่า 100,000 บาทด้วย” นางไอรดากล่าว

ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 1 ในประเภทผู้ประกอบการคือ บริษัทเมตามีเดีย เทคโนโลยี ในชื่อผลงาน พร้อมไป (PromptPai) เป็นโปรแกรมระบุตำแหน่งสถานที่ด้วยรหัสตัวเลขหรือหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อให้ง่ายต่อระบบการจัดส่งสินค้าสมัยใหม่ ส่วนรองชนะเลิศในส่วนนักศึกษาคือ ทีม JElder จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในชื่อผลงาน J-Elder + ที่ออกแบบเพื่อให้ผู้สูงอายุที่ต้องการหางานใช้แอปพลิเคชันหางานได้ง่ายขึ้น และมีตำแหน่งงานที่เหมาะสมรองรับ โดยทั้งสองทีมจะได้รับทุนสนับสนุน 70,000 บาท

สำหรับรางวัลอื่นๆ ประกอบด้วย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จาก บริษัท AI Agent และ ผลงาน GuruFarm จากทีมผสม มหาวิทยาลัยศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจะได้รับรางวัลทุนสนับสนุน 50,000 บาท, รางวัลชมเชย จากทีม Mustang Cat ในชื่อผลงาน Eatable Tax Platform และทีม Trialation จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ด้วยผลงานแอปพลิเคชันเว็บไซต์ Free Mann ได้รับทุนสนับสนุน 15,000 บาท และสุดท้ายรางวัลขวัญใจกรรมการ ได้แก่ ทีม SEEKEENA (ซีกีนา) จากผลงาน SEEKEENA  Chatbot และบริษัทเมตามีเดีย เทคโนโลยี ในชื่อผลงาน พร้อมไป (PromptPai) ได้รับทุนสนับสนุน 10,000 บาท