คณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ เผย ปัญหาหนี้นอกระบบยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย แม้รัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ แต่ยังแก้ได้ไม่หมด หลังพบ ปัจจัยก่อหนี้มีถึง 8 ด้าน เตรียมส่งผลการศึกษา พร้อมข้อเสนอแนะถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการแก้ปัญหา ชี้ อาจต้องเสนอสภาแก้กฎหมายบางส่วน หากต้องการช่วยชาวบ้านพ้นบ่วงหนี้นอกระบบ
นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการและยั่งยืนขึ้น ของคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาหนี้สิน ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาหนี้นอกระบบฯ ต้องยอมรับว่า ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาเป็นระยะเวลานาน โดยมีสาเหตุจากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความเหลื่อมล้ำในสังคม และสภาพเศรษฐกิจของประเทศ จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อความ มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภาพรวม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาหนี้นอกระบบ และได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกับวางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันก็ยังพบว่า ปัญหาหนี้นอกระบบยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในสังคมไทย แม้ว่าทุกหน่วยงานจะได้พยายามแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่องก็ตาม
และถึงแม้ว่า ขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังคงดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถช่วยได้ส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้น จึงจําเป็นที่จะต้องศึกษาถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในบริบทสังคมปัจจุบัน รวมทั้งข้อจํากัดของกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันที่เป็นปัญหา โดยมุ่งเน้นที่จะศึกษาให้ได้มาซึ่งแนวทางการบริหารจัดการและแก้ไข ปัญหาหนี้นอกระบบทั้งด้านนโยบาย และด้านกฎหมาย รวมถึงข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ เพื่อเสนอ ต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเป็นแนวทางในการเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายนเรศ กล่าวว่า ขณะนี้ทางคณะอนุกรรมาธิการณ ได้ทำการศึกษาถึงแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เสร็จตามกรอบเวลาและได้ส่งให้ทางคณะกรรมาธิการฯ พร้อมทั้งได้รายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการศึกษาที่ได้ดำเนินการไปนั้น ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล เพื่อสรุปประเด็นปัญหาหนี้นอกระบบมีสาเหตุมาจากอะไร และแนวทางแก้ไขปัญหาจะมีอะไรบ้าง
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า หลัก ๆ แล้วปัจจัยที่ก่อให้เกิดหนี้นอกระบบจะมีอยู่ 8 ข้อ ประกอบด้วย 1. ระดับรายได้และหนี้สินของบุคคลและครัวเรือน ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการกู้มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 2. สภาพเศรษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ประชาชนจำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้น 3.ปัญหาความยากจนในสังคม มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย 4. ความจําเป็นและความต้องการใช้เงินอย่างเร่งด่วน เช่น กรณีเจ็บป่วย เป็นต้น 5. ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ของสถาบันการเงิน 6.ขาดความรู้ทางการเงินเกี่ยวกับแหล่งเงินกู้ในระบบ 7. พฤติกรรมการใช้เงินของลูกหนี้ จากการขาดวินัยทางการเงิน การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และ8. หนี้นอกระบบเข้าถึงได้ง่าย
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบด้วยว่า สภาพปัญหาของหนี้นอกระบบที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้ลุล่วงได้มาจาก 3 ด้าน โดยด้านที่ 1. ด้านลูกหนี้นอกระบบ ที่ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบได้ ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ไม่เพียงพอต่อการชําระหนี้ ขาดวินัยทางการเงิน และถูกเจ้าหนี้เอาเปรียบ เพราะขาดความรู้ด้านกฎหมายและ กระบวนการยุติธรรม ส่วนด้านที่ 2 ด้านเจ้าหนี้นอกระบบ พบว่ามีการใช้ช่องทางกฎหมายเอาเปรียบลูกหนี้ และไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และด้านที่ 3 ด้านหน่วยงาน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดการบูรณาการการทํางานร่วมกันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทําระบบฐานข้อมูล
ขณะเดียวกัน ยังพบ ว่า ภาครัฐขาดงบประมาณและการประชาสัมพันธ์ ทั้งนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ แนวทางในการแก้ไขหนี้นอกระบบ รวมทั้งช่องทางที่ประชาชน สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง
นายนเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการพิจารณาศึกษาปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้นอกระบบและสภาพปัญหาหนี้นอกระบบที่ยังทําให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้แล้ว ยังได้พิจารณาศึกษาข้อจํากัด ของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ ในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ อาจจะต้องมีการเสนอแก้กฎหมายในบางส่วน เพื่อให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกับ ได้เสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหา แบ่งเป็น 2 แนวทาง โดยแนวทางที่หนึ่ง จะต้องบริหารจัดการเชิงบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแนวทางที่สอง เป็นการจัดการแบบองค์รวม โดยการจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ในภารกิจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยตรงและเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะมีภารกิจครอบคลุมไปถึงการแก้ไข ปัญหาหนี้สินอื่น ๆ ด้วย
“การดำเนินการของคณะอนุกรรมาธิการฯ หลังจากนี้ จะนำข้อสังเกตต่อการดําเนินงานและ การแก้ไขปัญหาอุปสรรคตามแนวทางต่าง ๆ ให้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการปกครอง สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง สํานักงานตํารวจแห่งชาติ กรมสรรพากร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงยุติธรรม และสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงแนวทางในการแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้ โดยขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบรายงานผลการพิจารณาศึกษาฉบับนี้ และส่งรายงานผลการพิจารณาพร้อมข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ให้แก่หน่วยงานดังกล่าว เพื่อพิจารณาดําเนินการต่อไป ซึ่งคาดหวังว่า จะช่วยให้การแก้หนี้นอกระบบเดินหน้าในทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป” นายนเรศ กล่าว