‘มูราตะ’ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ปักหมุดนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ลำพูน ทุ่ม 2,900 ล้านบาท ขยายโรงงานแห่งใหม่ เพิ่มศักยภาพการผลิตตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้น – MLCC ป้อนตลาดโลก

Industrial

ปัจจุบันความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ขณะเดียวกันการเติบโตของสมาร์ทโฟน และอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นปัจจัยเร่งทำให้อุตสาหกรรมนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ล่าสุด บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นฐานการผลิตในเครือของบริษัท มูราตะ แมนูแฟ็คเจอริ่ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ได้เปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนแห่งใหม่เพิ่มเติม พื้นที่อาคารรวม 35,088 ตรม. ซึ่งตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ จังหวัดลำพูน

นายฮิโรคะซุ ซาซาฮาร่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงการขยายโรงงานแห่งใหม่ว่า อย่างที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันมีความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้น (Multilayer Ceramic Capacitors – MLCC) เพื่อนำไปประกอบในอุปกรณ์อิเลิกทรอนิกส์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเติบโตพร้อมกับตลาดสมาร์ทโฟน ซึ่งหากเป็นระดับไฮเอ็นด์สามารถติดตั้งคาปาซิเตอร์ชนิดนี้ได้มากถึง 1,000-1,200 ตัว ทำให้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อุปกรณ์ MLCC มีอัตราการเติบโตถึง 3 เท่า และแน่นอนว่าชิ้นส่วน MLCC ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ระดับเรือธงของมูราตะ และครองส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกสูงถึง 40% โดยโรงงานแห่งใหม่นี้ จะเน้นผลิต MLCC เป็นหลัก เพื่อป้อนสินค้าไปยังผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก

นายฮิโรคะซุ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรงงานแห่งใหม่นี้ได้ใช้งบประมาณในการลงทุนเฉพาะตัวอาคารอยู่ที่ 2,900 ล้านบาท ซึ่งภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า หากเดินกำลังการผลิตได้เต็มระบบ จะสามารถผลิต MLCC ได้ราว 30,000 ล้านชิ้นต่อเดือน และจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2,000 อัตรา จากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 600 อัตรา

ด้านนายโนริโอะ นากาจิมา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท มูราตะ แมนูแฟ็คเจอริ่ง จำกัด จากญี่ปุ่น กล่าวว่า ปัจจุบัน มูราตะ เป็นเป็นผู้นำระดับโลกในการออกแบบ ผลิต และจัดจำหน่ายโซลูชั่นและชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกส์พื้นฐานเซรามิกแบบพาสซีฟ โมดูลการสื่อสารและโมดูลจ่ายไฟ โดยได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 บริษัทนวัตกรรมชั้นนำของโลกติดต่อกัน 2 ปีซ้อน จาก Clarivate (Thomson Reuters เดิม)

ทั้งนี้ มูราตะ ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดทั่วโลกสูงถึง 40 % มาจากกลยุทธ์การรักษาผู้นำตลาดด้วยระบบการทำงานแบบบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การออกแบบ การพัฒนาเครื่องจักรการผลิต วัสดุ และกระบวนการทำงาน รวมไปถึงเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์ภายในองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสูง ขณะเดีวกัน มูราตะ ยังได้จัดสรรงบวิจัยและพัฒนา (R&D) อีกราว 7% ของยอดขาย ซึ่งในปีที่ผ่านมา บริษัทฯมียอดขายสูงถึง 1,686,796 ล้านเยน หรือราว 4.2 แสนล้านบาท

ขณะที่ การขยายโรงงานเพิ่มขึ้นในประเทศต่าง ๆ จะช่วยขยายศักยภาพการผลิตและทำให้ มูราตะ เป็นผู้นำตลาดได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะโรงงานในประเทศไทยแห่งใหม่แล้วเสร็จสมบูรณ์จะเสริมให้มูราตะ มีฐานการผลิตคาปาซิเตอร์ในต่างประเทศเพิ่มเป็น 4 แห่ง (นครอู๋ซี เซินเจิ้น ประเทศจีน ประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย) และอีกสองแห่งในประเทศญี่ปุ่น (นครฟูกูอิ และนครอิซูโมะ) รองรับการขยายกำลังการผลิตตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้นเพิ่มขึ้นอีกปีละ 10% เพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวในวงการอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี

อนึ่ง สำหรับ มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) ได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ที่จังหวัดลำพูน ตั้งแต่ปี 2531 ทุนจดทะเบียน 6,093,731,000 บาท มีจำนวนพนักงานทั้งสิ้น 6,167(เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566)